จากการที่สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงเกิดเป็นภาวะมลพิษอันเกิดจากน้ำเน่าเสียที่มี อัตรา และปริมาณสูงขึ้นจนยากแก่การแก้ไขให้บรรเทาเบาบาง และกลับมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบ ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถผลิตขึ้นได้เองในประเทศ โดยทรงมุ่งหวังที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการบรรเทาน้ำเน่าเสียอีกทางหนึ่งด้วย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณ เพื่อศึกษาวิจัยสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ร่วม กับกรมชลประทาน ซึ่งต่อมาเครื่องมือบำบัดน้ำเสียนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และเรียกกันว่า"กังหันน้ำชัยพัฒนา"การทดลองวิจัยเพื่อประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศ ในขณะนี้มี 9 รูปแบบ คือ
1.ครื่องกลเติมอากาศระบบเป่าอากาศลงไปใต้น้ำและกระจายฟอง Chaipattana Aerator
2. เครื่องกลเติมอากาศระบบเป่าอากาศหมุนใต้น้ำ หรือ "ชัยพัฒนาซุปเปอร์ฟองแอร์" Chaipattana Aerator, Model RX-3
3. เครื่องกลเติมอากาศแรงดันน้ำ หรือ "ชัยพัฒนาเวนจูรี่" Chaipattana Aerator, Model RX-4
4. เครื่องกลเติมอากาศระบบอัดและดูดอากาศลงใต้น้ำ หรือ "ชัยพัฒนาแอร์เจท Chaipattana Aerator, Model RX-5
5. เครื่องกลเติมอากาศแบบตีน้ำสัมผัสอากาศ หรือ "เครื่องตีน้ำชัยพัฒนา" Chaipattana Aerator, Model RX-6
6. เครื่องกลเติมอากาศแบบดูดและอัดน้ำลงไปที่ใต้ผิวน้ำ หรือ "ชัยพัฒนาไฮโดรแอร์" Chaipattana Aerator, Model RX-7
7. เครื่องมือจับเกาะจุลินทรีย์ หรือ "ชัยพัฒนาไบโอ" Chaipattana Bio-Filter, Model RX-8
8.เครื่องกลเติมอากาศแบบกระจายน้ำสัมผัสอากาศ หรือ "น้ำพุชัยพัฒนา" Chaipattana
9.เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำแบบหมุนช้า หรือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" Chaipattana Aerator, เครื่องกลเติมอากาศต่างๆนี้ ได้นำมาติดตั้งใช้งานกับระบบบำบัดน้ำเสียตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พศ.2532 และได้มีการปรับปรุงตลอดเวลา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะให้มีการบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกในการใช้งาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และบำรุงรักษาได้ง่าย ตลอดจนมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน การดำเนินงานในขณะนี้ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ทำให้น้ำใสสะอาดขึ้นลดกลิ่นเหม็นลงได้มากและมีปริมาณออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้น บรรดาสัตว์น้ำ อาทิเต่า ตะพาบน้ำ และปลา สามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนสามารถบำบัดความสกปรกในรูปของมลสารต่าง ๆ ให้ลดต่ำลง ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร้องขอให้มูลนิธิชัยพัฒนาเข้าไปช่วยเหลือในการบำบัด น้ำเสียอย่างเร่งด่วนเป็นจำนวนมากเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 เครื่องกลเติมอากาศ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้า ฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระบรมราชวงศ์ด้วย จึงนับได้ว่าเป็น "สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก" นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้ประกาศให้กังหันน้ำ ชัยพัฒนาได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทรางวัลผลงานคิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประจำปี 2536 และทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลนี้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกวาระหนึ่ง
^^^^^^^^^^---***---^^^^^^^^^^
-* -ในหลวงกับคอมพิวเตอร์ *-*
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระทัยใฝ่รู้และทรงศึกษาอย่างจริงจัง ลึกซึ้งในการค้นคว้าวิจัยเพื่อการพัฒนาในทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ทรงเห็นความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่ง ทรงสนับสนุนการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในด้านส่วนพระองค์นั้น ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอภาพคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ และทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชภารกิจต่างๆ ทั้งยังทรงเคยประดิษฐ์ ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนเพื่อทรงอวยพรปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงสนพระทัยคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก สังเกตได้จากขณะเสด็จพระราชดำเนินชมงานนิทรรศการต่างๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พระองค์สนพระทัยซักถามอาจารย์และนักศึกษาที่ประดิษฐ์ซอฟต์แวร์ต่างๆ อย่างละเอียดและเป็นเวลานานพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนานั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑,๔๗๒,๙๐๐ บาท ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ ให้มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาต่อเนื่องจากโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์เดิม ที่มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาเสร็จแล้วและได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสรัชมังคลาภิเษก ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ทรงเห็นว่าโครงการนี้ควรได้รวบรวมเอาชุดอรรถกถาและฎีกาเข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นโครงการที่นำวิทยาการชั้นสูงมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลเนื้อหาทางด้านพุทธศาสนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับคอมพิวเตอร์นี้ด้วยพระองค์เอง และมีพระบรมราชวินิจฉัย และพระราชวิจารณ์ในการออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้ในการสืบค้นข้อมูล ในฐานะแห่งองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก การครั้งนี้กล่าวได้ว่า เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนานสืบไปในอนาคตกาล
&&&&&&&&&&&&พระราชกรณียกิจด้านวิทยุกระจายเสียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องวิทยุเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุ ซึ่งมีวางขายเลหลังราคาถูกทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดแร่ สามารถรับฟังทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง ต่อมาเมื่อกิจการวิทยุเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้นำหลอดวิทยุมาใช้ในเครื่องรับ-ส่งวิทยุและเครื่องขยายเสียงและพระองค์ท่านก็ได้ทรงทดลองอุปกรณ์แบบใหม่นี้ด้วยเช่นกัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส.เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง ๒ เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง ๑๐๐ วัตต์ ออกอากาศด้วยคลื่นสั้นและคลื่นยาวในระบบ AM พร้อมๆ กัน เครื่องส่งรุ่นแรกนี้เป็นเครื่องที่ กรมประชาสัมพันธ์ทูลเกล้าฯ ถวายและติดตั้งให้ด้วยเมื่อออกอากาศไปได้ระยะหนึ่ง และในระบบคลื่นสั้นก็มีจดหมายรายงานผลการรับฟัง เข้ามาจากหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา เยอรมันฯ เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่ง โดยมีชื่อรหัสสถานีว่า HS 1 AS ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สถานีวิทยุ อ.ส.ได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบFMขึ้นอีกระบบหนึ่งในการขยายด้านกำลังส่งนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อให้สถานีวิทยุ อ.ส. สามารถบริการประชาชนได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อาจถือได้ว่าเป็นสถานีวิทยุเอกชนเพียงแห่งเดียวที่สามารถกระจายเสียงคลื่นสั้นได้ ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ พระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ ที่ทรงแสดงให้ทราบถึงใจรักที่พระองค์ท่านพระราชทาน ให้กับประชาชนทั่วทุกคน นอกเหนือจากเป็นสถานีวิทยุของสื่อมวลชนเพื่อการบันเทิง และเผยแพร่ความรู้กับประชาชนแล้ว ยังได้ทำหน้าที่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญ หรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ขึ้น เช่น การเกิดโรคโปลีโอระบาดในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ อหิวาตกโรคในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และเมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันมีคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ทำหน้าที่นายสถานี เล่าให้ฟังว่า นโยบายหลักเกี่ยวกับการบริหารงานของสถานี ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ได้เข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น และทรงรับภาระต่างๆ ด้านสถานีด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้นโยบายประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด และในปัจจุบันนี้สถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยออกอากาศทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ในระบบ AM 1332 KHzและ FM 104 MHz ควบคู่กันไปด้วยกำลังส่ง ๑๐ กิโลวัตต์ โดยออกอากาศวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ และ ๑๖.๐๐-๑๙.๐๐ วันอาทิตย์ เวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ หยุดทุกวันจันทร์
~~~~~~~~~~~~~~
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น